จดหมายถึงอาจารย์ 21/06/2561

By | June 21, 2018

20180615_152143

สวัสดีครับอาจารย์ ไม่ได้ติดต่ออาจารย์นานเลยครับ ทีแรกคิดว่าจะได้ไปกำแพงแสนอีก แต่พอดีทางโรงงานปุ๋ยเปลี่ยนไปใช้ระบบกำหนดแบบปริมาตร ไม่ได้ใช้น้ำหนักแบบที่ผมคิด เลยเปลี่ยนคนทำ ผมเลยไม่ได้มีโอกาสไปเลยครับ

ที่สวน ปลูกพืชลงดินตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว เจอทั้งโรคทั้งแมลงระบาดหนัก ราคาพืชผักก็ไม่ดีเอาอย่างมาก ดูแล้วว่าไม่น่าคุ้มค่า คนทำก็ไม่ค่อยไหว ไม่ได้จ้างใครช่วยด้วย เลยต้องหยุดไปก่อน แต่ผักไฮโดรดีขึ้นครับ ทำผลผลิตได้ดี อย่างขึ้นฉ่าย ผมทำได้เกือบ 60 Kg ต่อโต๊ะ คิดถึงตอนเริ่มทำ ทำได้ 30 Kg ก็ดีใจแล้ว ส่วนหนึ่งคงเพราะทำหลายครั้งเข้าเริ่มรู้มากขึ้น ข้อมูลที่บันทึกมาตลอดก็มีมากขึ้น ทำให้หาจุดที่เป็นปัญหาได้ตรงกว่าเดิม แม้จะแอบทดลองทำจนผลผลิตเสียหาย โดนบ่นเอาบ้าง แต่ก็ได้วิธีการและผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม

ตอนนี้ผมมีสูตรปุ๋ยของผมเอง เป็นสูตรสำหรับผักไทย แถมยังแยกเป็นผักมีกลิ่นอย่างขึ้นฉ่าย และผักไม่มีกลิ่นอย่างคะน้า ปวยเล้ง ผมพบว่าการใช้สูตรปุ๋ยสำหรับผักฝรั่งอย่างสลัด เอามาใช้กับผักไทย มันไม่ได้ผลดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผักไทยต้องการปุ๋ยมากกว่า ถ้าเอาสูตรผักฝรั่งที่เจือจางมาใส่ให้เข้มข้นขึ้น มันเกิดการตกตะกอนของฟอสเฟตมากขึ้น กลายเป็นเททิ้งปุ่ยไปเสียเปล่า ผมเลยเอาข้อมูลการวิเคราะห์เนื้อเยื่อมาตั้ง เอาปุ๋ยสูตรต่างๆ ของต่างประเทศและไทยมาคิด หาสัดส่วนของธาตุหลัก หาสัดส่วนของธาตุรอง หาสัดส่วนของธาตุหลักต่อธาตุรองต่อจุลธาตุ แล้วไปคำนวณกลับหาสูตรปุ๋ย ผมคงว่างมากจนมีเวลาทำได้เสร็จ แล้วก็เอาไปทดสอบกับพืชที่ปลูก จนได้สูตรที่พอใช้ได้จริงๆ ปลูกเทียบกับสูตร KMITL ที่เขาใช้กัน ได้ผลผลิตมากกว่าโต๊ะละเกือบ 10 Kg ไม่ทำให้ครูบาอาจารย์ที่สอนมาขายหน้าแล้วล่ะครับ และยังพอได้คุยทับพรรคพวกที่ลาดกระบังว่า เรื่องนี้ปฐพี ม.เกษตรก็เก่งนะแค่ไม่มีเวลาทำแค่นั้นเอง

เรื่องผักไฮโดรยังมีเรื่องต่ออีกหน่อยครับ วันหนึ่งก็มีชาวบ้านคนหนึ่งขับรถมาจอดหน้าสวนผม ถามหาบ้านเจ้าของที่ สอบถามได้ความว่า แกมาตามหาเจ้าของขึ้นฉ่ายที่ส่งไปขายให้ตาบัติ เจ้าขายส่งตลาดไท จะมาดูว่าทำยังไงผักถึงสวยมาก แกมาจาก อ.ท่าเรือ อยุธยา ขับรถตามหามาสี่วันแล้ว ก็ได้คุยกัน ผมก็อธิบายเท่าที่แกจะรู้ได้ให้แกฟัง พาไปเดินดูโต๊ะที่ปลูกเอาไว้ คุยกันอยู่สักชั่วโมงได้ แกก็กลับ ผมก็คิดว่าคงเหมือนคนอื่นๆ ที่มาดูแล้วก็หายไป แต่แกกลับมาอีก 3 รอบ รอบสุดท้ายแกมาจ้างผมไปทำให้แก แกเล่าให้ฟังว่า ตอนที่มาเจอผม ผมกำลังเพาะเมล็ด แกก็กำลังหว่าน ครั้งสุดท้ายที่แกมา ผมตัดขายได้เงินแล้ว แกไม่ได้เงินสักบาท ขึ้นฉ่ายแกเป็นโรคตายหมด ปลูกซ้ำก็ไม่ได้แล้ว ต้องรอปีหน้า แต่ผมลงชุดใหม่ไปแล้วทันทีที่ตัด แกเลยตัดสินใจจะปลูกแบบไฮโดร ไปถามมาหลายที่ ราคาต่อโต๊ะที่เขาคิดแกอยู่ที่ 32,000-37,000 บาท แกกลับมาคุยกับผมก่อนตัดสินใจซื้อไปทำโต๊ะนึง ผมเลยขอให้แกพาไปดูสวนแกก่อน แกก็พาผมไปดู

ไปถึงสวนแก ที่ก็เช่าเขา บ้านที่อยู่ก็เป็นแค่เพิง กันแดดกันฝนแค่นั้น ดูน้ำดูที่แล้ว ก็บอกแกว่าทำได้ แกก็ดีใจ บอกว่าพรุ่งนี้จะไปซื้อโต๊ะ ผมก็ถามแกตรงๆ ว่า เชื่อผมไหม ถ้าเชื่อ ผมทำให้หนึ่งโต๊ะ 16,000 บาท ครบทั้งปุ๋ยทั้งที่วัด pH EC ที่เหลือเอาเงินไปคืนเขาเถอะ แกเลยขอว่าทำให้แก 2 โต๊ะได้ไหม ไหนๆ เงินก็ไปกู้ ธกส มาแล้ว ตกลงเลยกลายเป็น 2 โต๊ะไป

กลายเป็นผมมีงานเพิ่มขึ้นมาอีก แต่ไม่ได้เงินเพิ่มสักบาท แต่ได้เพื่อนเพิ่มมาอีกครอบครัวหนึ่ง ดีที่ไม่โดนว่าอะไร ตอนนี้โต๊ะเสร็จแล้ว สัปดาห์หน้าจะติดตั้งระบบและเริ่มปลูกแล้วครับ

20180615_152150

ส่วนงานคอมพิวเตอร์ของโรงงานก็ยังมีทำตลอดครับ ก็พออยู่ได้ครับ

ว่าจะเล่าหน่อยเดียว เขียนเล่ามาเสียยาวเลยครับ จะเล่าเรื่องถ่านที่เคยเผากับอาจารย์ต่อ เพราะตอนนี้มันไปถึงระดับอินเตอร์แล้ว แต่คงต้องไว้คราวหน้าครับ ยาวมากแล้ว เอาไว้เล่ารวมกับเรื่องอุปกรณ์ เครื่องควบคุมอุณหภูมิน้ำตู้ปลา/พืชน้ำ กับ ทุ่นอัจฉริยะ Smart Buoy ที่เชื่อมต่อผ่านอินเตอร์เน็ตและมือถือ ที่ผมออกแบบให้น้องสาวทำเป็นงานวิจัยแบบ 4.0 ที่เขากำลังฮิตกันดีกว่าครับ

แสดงความเห็น